วันนี้เราจะมาเรียนรู้ถึงความแตกต่างระหว่าง Waste กับ Loss กันค่ะ
Waste กับ Loss ต่างกันอย่างไร?
ในแง่มุมของการปรับปรุงผลิตภาพ (Productivity Improvement) แล้วมันมีความต่างกันอยู่ครับ แต่ขณะเดียวกันก็มีความสัมพันธ์กันอยู่ด้วย
Waste คืออะไร?
Waste หมายถึง ขยะ ของเสีย ปฏิกูล คือสิ่งที่มนุษย์ไม่ต้องการและหมดประโยชน์แล้ว ฉะนั้นกิจกรรมใดก็แล้วแต่ที่สร้าง waste ให้เกิดขึ้นจึงเป็นสิ่งที่สูญเปล่าโดยแท้ เราถึงได้เรียกมันในภาษาไทยอย่างเป็นทางการว่า “ความสูญเปล่า”
ความสูญเปล่ามีอยู่ 7 ประการ นิยามโดยชาวญี่ปุ่นที่สร้าง Toyota Production System (TPS) ซึ่งบรรจุเจ้าความสูญเปล่า 7 ประการนี้ เป็นหนึ่งในสี่ของมาตราการการทำ TPS อันลือเลื่อง โดยที่ TPS มุ่งเน้นที่
- การผลิตเมื่อมีความต้องการเท่านั้น
- การมีส่วนร่วมในการควบคุมกระบวนการของพนักงานอย่างแท้จริง
- การขจัดความสูญเปล่า
- การพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยไม่ย่อท้อ
ความสูญเปล่าทั้ง 7 ประการ มีดังนี้
1. Over production (การผลิตที่มากเกินพอดี)
2. Defect (ความบกพร่องของชิ้นงาน)
3. Waiting (การรอปฏิบัติงาน)
4. Transporting (การขนส่ง)
5. Over processing (วิธีการทำงานที่เกินความจำเป็น)
6. Motion (ผลกระทบจากการปฎิบัติงานของคน)
7. Inventory (การเก็บสำรอง)
คราวนี้เราจะมาพูดกันในส่วนของ Loss บ้าง
Loss คืออะไร?
Loss หมายถึง ความสูญเสีย ความเสียหาย ให้เรานึกถึงอะไรก็ตามที่เคยมีอยู่ (กายภาพ สมรรถนะ ประสิทธิภาพ ฯลฯ) แต่ต้องสูญเสียมันไป เช่น การเสียหายของทรัพย์สินโดยสิ้นเชิง การเสื่อมสภาพของสิ่งของ การสูญเสียน้ำหนัก การล้มหายตายจาก เป็นต้น ดังนั้นจึงเรียก Loss อย่างเป็นทางการว่า “ความสูญเสีย”
ความสูญเสียมี 6 ประการ เรียกในภาษาอังกฤษว่า “Six Big Losses” มันเป็นองค์ประกอบอยู่ในเครื่องมือวัดประสิทธิผลรวมของเครื่องจักรอันโด่งดัง ในนามว่า OEE (Overall Equipment Effectiveness) นั่นเอง
โดยการจะได้มาซึ่งค่าของ OEE ที่สูงต้องไปทำการลดเจ้าความสูญเสียทั้ง 6 ประการลง
ความสูญเสียทั้ง 6 ประการ ดังนี้
1) Breakdowns
2) Setup and Adjustments
3) Small Stop
4) Reduced Speed
5) Startup Rejects
6) Production Rejects
มาต่อกันที่ความสัมพันธ์ระหว่าง Waste กับ Loss ว่าเกี่ยวข้องกันยังไง
Waste (ความสูญเปล่า) เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิด Loss (ความสูญเสีย) ขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น
1. การรอคอยปฏิบัติงาน (Waiting) ทำให้สูญเสียสมรรถนะในการผลิต โอกาสในการทำกำไรความสามารถในการแข่งขัน
2. การผลิตที่มากเกินพอดี (Over Production) ทำให้สูญเสียค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บ การจัดการในส่วนเกิน
โอกาสเกิดการสูญเสียคุณภาพ
พอจะเห็นภาพขึ้นแล้วใช่ไหมว่าเจ้าความสูญเสีย เป็นผลลัพธ์ปลายทางที่เกิดขึ้นจากความสูญเปล่า แต่ไม่ใช่เพียงแค่ความสูญเปล่าเท่านั้นที่เป็นสาเหตุ ยังมีตัวแปรตัวอื่นอีกที่ทำให้เกิดความสูญเสียขึ้น เช่น ภัยธรรมชาติ ความประมาท เจตนา เป็นต้น
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก Thai Better Solutions