วันนี้เราจะมาพูดกันในเรื่องของมาตรฐาน GMP หลายๆ ท่านอาจจะทราบแล้วว่า GMP คืออะไร และก็คงจะคุ้นเคยหรือรู้จัก GMP กันดีอยู่แล้ว แต่เชื่อว่าบางท่านอาจจะสงสัยว่า GMP คืออะไร ทำไมต้องมี GMP แล้ว GMP มันมีกี่ประเภทกันแน่ วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับ GMP กัน
GMP Codex ถือกำเนิดขึ้นจาก หน่วยงานมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ หรือ Codex ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของความปลอดภัยทางด้านอาหาร จึงได้จัดทำหลักเกณฑ์ Good Manufacturing Practice หรือ GMP ขึ้นมา ซึ่งในที่นี้เรียกว่า “จีเอ็มพี สากล” หรือ GMP Codex ที่เรารู้จักกันนั่นเอง หรือที่ผู้เขียนชอบเรียกว่า “GMP ภาคสมัครใจ” โดยทางคณะกรรมาธิการ Codex ได้กำหนดหลักเกณฑ์ให้สมาชิกทั่วโลกใช้เป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคทั่วโลก
GMP (Good Manufacturing Practice) หลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร เป็นเกณฑ์หรือข้อกำหนดขั้นพื้นฐานที่จำเป็นในการผลิตและควบคุมเพื่อให้ผู้ผลิตปฏิบัติตาม และทำให้สามารถผลิตอาหารได้อย่างปลอดภัย โดยเน้นการป้องกัน และขจัดความเสี่ยงที่อาจทำให้อาหารเป็นอันตราย เป็นพิษ หรือเกิดความไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค
GMP คือ ระบบประกันคุณภาพที่มีการปฏิบัติและพิสูจน์แล้วจากกลุ่มนักวิชาการด้านอาหารทั่วโลกว่า สามารถทำให้อาหารเกิดความปลอดภัย และเป็นที่เชื่อถือยอมรับจากผู้บริโภค โดยอาศัยหลายปัจจัยที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กัน ดังนั้นหากปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนดได้ทั้งหมด ก็จะทำให้อาหารมีคุณภาพมีความปลอดภัยและได้มาตรฐาน
ในประเทศไทย GMP ได้เริ่มเข้ามามีบทบาทต่ออุตสาหกรรมอาหาร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 ในลักษณะของโครงการพัฒนาสถานที่ผลิตอาหาร โดยให้ผู้ผลิตที่สมัครใจนำหลักเกณฑ์ดังกล่าวไปปฏิบัติตาม ซึ่งมีผู้ผลิตหลายรายให้ความร่วมมือ และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว จนประสบความสำเร็จในการปรับปรุง พัฒนาสถานที่ผลิต จนได้ตามเกณฑ์ดังกล่าว ต่อมาเมื่อผู้บริโภค มีความต้องการอาหารที่มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ผนวกกับความจำเป็นที่จะต้องก้าวให้ทันการแข่งขันในตลาดการค้าเสรี และกระแสการค้าของโลก เป็นแรงผลักดันที่ทำให้ประเทศไทยต้องก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการปรับกระบวนการควบคุมอาหารให้สามารถตอบสนองความต้องการดังกล่าว
ปัจจุบันทางสำนักงานคณะกรรมอาหารและยาของไทย ได้นำเอาหลักเกณฑ์ของ GMP มาบังคับใช้เป็นกฎหมาย โดยกำหนดไว้ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 193) พ.ศ. 2543 เรื่อง วิธีการผลิต เครื่องมือ เครื่องใช้ในการผลิต และการเก็บรักษา ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2544 เป็นต้นมา ซึ่งข้อกำหนดตามประกาศฯ (ฉบับที่ 193) พ.ศ. 2543 เป็นเกณฑ์สุขลักษณะทั่วไป ได้ประยุกต์มาจากเกณฑ์ GMP สากลของ CodeX โดยคำนึงถึงความพร้อมของผู้ผลิตในประเทศไทย ซึ่งมีข้อจำกัดในเรื่องเงินทุน เวลากับความรู้ เพื่อให้ผู้ผลิตทุกระดับ โดยเฉพาะขนาดเล็กกับขนาดกลาง ซึ่งมีเป็นจำนวนมากสามารถปรับปรุงและปฏิบัติตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ได้ แต่ทั้งนี้ข้อกำหนดยังคงสอดคล้องตามแนวทางของหน่วยงานมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ
ประเภทอาหารที่มีการบังคับให้ใช้ GMP ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เช่น อาหารเสริมสำหรับทารกกับเด็กเล็ก, อาหารทารกและอาหารสูตรต่อเนื่องสำหรับทารกกับเด็กเล็ก, น้ำแข็ง, นมโค, นมเปรี้ยว, เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท, สีผสมอาหาร, ชา, กาแฟ, อาหารสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก, ไข่เยี่ยวม้า และข้าวเติมวิตามิน เป็นต้น
หลักการของ GMP จะครอบคลุมตั้งแต่สถานที่ประกอบการ โครงสร้างอาคาร กระบวนการผลิตที่ดีมีความปลอดภัย และมีคุณภาพได้มาตรฐานทุกขั้นตอน นับตั้งแต่ขั้นตอน เริ่มต้นวางแผนการผลิต ระบบควบคุมตั้งแต่วัตถุดิบระหว่างการผลิต ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป การจัดเก็บ การควบคุมคุณภาพ และการขนส่งจนถึงผู้บริโภค มีระบบบันทึกข้อมูล ตรวจสอบและติดตามผลคุณภาพผลิตภัณฑ์ รวมถึงระบบการจัดการที่ดีในเรื่องสุขอนามัย เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้ายมีความปลอดภัยได้คุณภาพเป็นที่มั่นใจเมื่อถึงมือผู้บริโภค และ GMP ยังเป็นระบบประกันคุณภาพพื้นฐานก่อนที่จะนำไปสู่ระบบประกันคุณภาพอื่น ๆ ที่สูงกว่าต่อไป เช่น ISO 9000 และ HACCP (Hazards Analysis and Critical Points)
ทำไมต้องมีระบบ GMP Codex
- ทำให้สามารถตรวจสอบกระบวนการผลิตของสินค้าชนิดนั้นๆได้
- เมื่อเกิดปัญหา หรือพบข้อร้องเรียนด้านคุณภาพของสินค้า เช่น บูด เน่า เสีย หรือมีสิ่งปนเปื้อน จะสามารถทวนสอบกลับได้ว่าปัญหาดังกล่าวเกิดจากอะไร ซึ่งสามารถแก้ไขและป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้อีกอย่างไร แก้ไขปัญหาตรงจุดหรือต้นเหตุของปัญหา
- เมื่อสามารถปฏิบัติได้ตรงตามข้อกำหนด จะสามารถลดการสูญเสียต่างๆได้ เช่น สินค้าเน่าเสีย เครื่องจักรเสีย สินค้าปนเปื้อน คุณภาพของสินค้าต่ำ จนทำให้เกิดการส่งคืนสินค้าซึ่งสิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดต้นทุนสินค้าที่สูงเกินความเป็นจริงทั้งสิ้น
No comments:
Post a Comment